ค้นหาสำนักงานบัญชีทั่วประเทศ ค้นหาสำนักงานกฎหมายทั่วประเทศ ค้นหาผู้สอบบัญชี ค้นหาผู้ทำบัญชี ค้นหาทนายความ ค้นหาคนรับจดทะเบียนบริษัท หาพนักงานบัญชี ลงประกาศรับสมัครงานบัญชี
ค้นหาสำนักงานบัญชีทั่วประเทศ ค้นหาสำนักงานกฎหมายทั่วประเทศ ค้นหาบริษัทรับทำบัญชี ค้นหาผู้รับทำบัญชี ค้นหาผู้สอบบัญชี ค้นหาทนายความ ประกาศรับสมัครงานบัญชี
ค้นหาสำนักงานบัญชีทั่วประเทศ ค้นหาสำนักงานกฎหมายทั่วประเทศ ค้นหาบริษัทรับทำบัญชี ค้นหาผู้รับทำบัญชี ค้นหาผู้สอบบัญชี ค้นหาทนายความ ประกาศรับสมัครงานบัญชี
รวมทุกๆเรื่องราวด้านบัญชีและกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานบัญชี สำนักงานกฎหมาย ทนายความ ผู้สอบบัญชี ผู้ทำบัญชี วางระบบบัญชี บริการด้านจดทะเบียนบริษัท คอร์สอบรมบัญชี รับสมัครพนักงานบัญชี รวมไว้ที่นี่

รวม 5 เทคนิคลับ ที่ช่วยให้เรา เสียภาษีน้อยลง อย่างถูกกฎหมาย

admin 15 มกราคม 2025 655 (ภาษี)
รวม 5 เทคนิคลับ ที่ช่วยให้เรา เสียภาษีน้อยลง อย่างถูกกฎหมาย
รวม 5 เทคนิคลับ ที่ช่วยให้เรา เสียภาษีน้อยลง อย่างถูกกฎหมาย | MONEY LAB
เคยสงสัยไหมว่า ทำไมบางคนถึงเสียภาษีน้อยกว่า ทั้ง ๆ ที่มีรายได้มากกว่าเราด้วยซ้ำ ?
แน่นอนว่าความคิดแรกของหลายคน ก็น่าจะมองว่า เพราะมีเงินและสภาพคล่องมากมาย ไว้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีอย่างเต็มจำนวน
แต่ความจริงแล้วอาจไม่ได้มีแค่นั้น เพราะคนที่เสียภาษีน้อยกว่า ส่วนหนึ่งอาจเพราะรู้จักวางแผนภาษีด้วย
เราเองก็สามารถวางแผนเพื่อเสียภาษีให้น้อยที่สุดอย่างถูกกฎหมายได้เช่นกัน โดยเริ่มจากการเข้าใจรายละเอียดของภาษีเงินได้และใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอย่างคุ้มค่า
เนื่องจากยังมีเทคนิคอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ซึ่งคนส่วนใหญ่อาจยังไม่รู้จัก นอกเหนือจากการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีที่หลายคนคุ้นเคย อย่างเช่น การลงทุนในกองทุนรวมหรือทำประกันชีวิต
ถ้าหากอยากรู้ว่ามีเทคนิคอะไรบ้าง ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
ก่อนที่เราจะเจาะลึกเรื่องเทคนิคการลดภาษี มาทำความเข้าใจพื้นฐานเรื่องภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากันก่อน
ภาษีเงินได้ที่เราต้องจ่ายนั้น คำนวณจาก
เงินได้สุทธิ x อัตราภาษี
โดยที่เงินได้สุทธิ คือ ผลลัพธ์จากการนำเงินได้ทั้งหมดมาหักลบด้วยค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนต่าง ๆ นั่นคือ
เงินได้สุทธิ = เงินได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน
จากสูตรนี้ เราสามารถเห็นแนวทางในการลดภาษีได้
3 วิธีหลัก นั่นคือ
- การลดเงินได้พึงประเมิน
- การเพิ่มค่าใช้จ่ายที่สามารถนำมาหักได้
- การใช้สิทธิประโยชน์จากค่าลดหย่อน
หลังจากที่เห็นภาพรวมหลัก ๆ ของการวางแผนภาษีแล้ว เรามาเจาะลึกเทคนิคต่าง ๆ ที่จะช่วยให้เราเสียภาษีอย่างประหยัดและถูกต้อง ทำให้เรามีเงินเหลือมากขึ้นกัน
เทคนิคที่ 1 การกระจายรายได้
ถ้าเราสามารถกระจายหน่วยภาษี หรือกระจายรายได้ จากเดิมที่เงินรวมเสียภาษีอยู่ในหน่วยภาษีเดียว เมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้น ก็จะทำให้เสียภาษีเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
หากเรากระจายรายได้ไปหลายหน่วยภาษี ฐานเงินได้ที่นำไปคำนวณภาษีก็จะลดลง ทำให้ภาษีที่ต้องจ่ายก็จะน้อยลง
ลองมาดูตัวอย่างที่สามารถนำไปปรับใช้ได้
สามีและภรรยาที่จดทะเบียนสมรส มีสิทธิในการยื่นแบบได้หลายวิธี ซึ่งแต่ละวิธีส่งผลต่อจำนวนภาษีที่ต้องจ่ายแตกต่างกัน
โดยคู่สมรสที่มีรายได้ใกล้เคียงกัน ควรแยกยื่นทั้งหมด เพราะแต่ละคนจะได้ใช้สิทธิลดหย่อนของตัวเองเต็มที่
ส่วนในกรณีที่ฝ่ายหนึ่งมีรายได้สูงกว่าอีกฝ่ายมาก ก็ควรยื่นรวมกัน เพราะฝ่ายที่มีรายได้น้อย ไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้เต็มที่ การรวมยื่นช่วยให้ใช้สิทธิลดหย่อนได้เต็มประสิทธิภาพ
เช่น ครอบครัวที่ภรรยาเป็นแม่บ้าน อาจจะให้สามีแยกยื่นเฉพาะเงินเดือน ส่วนรายได้อื่น ๆ ให้ภรรยายื่น จะช่วยกระจายรายได้และทำให้เสียภาษีน้อยลง
คู่สมรสที่ทำธุรกิจ คือมีเงินได้ประเภทที่ 8 สามารถแบ่งสัดส่วนรายได้ โดยให้ฝ่ายที่มีรายได้น้อยกว่าในสัดส่วนที่มากกว่า
จะเห็นว่า การเลือกวิธียื่นภาษีขึ้นอยู่กับโครงสร้างรายได้และค่าลดหย่อนของทั้งคู่ ควรลองเปรียบเทียบการคำนวณภาษีในหลาย ๆ รูปแบบ เพื่อหาวิธีที่ทำให้เสียภาษีน้อยที่สุด
นอกจากนี้ การตั้งหน่วยภาษีใหม่ เช่น จัดตั้งคณะบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือบริษัท ก็เป็นอีกทางเลือก แต่ควรศึกษารายละเอียดและกฎระเบียบเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจ
เทคนิคที่ 2 การแปลงประเภทเงินได้ เพื่อหักค่าใช้จ่าย
เงินได้แบ่งออกเป็น 8 ประเภท แต่ละประเภทมีเพดานการหักค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกันมาก
เงินได้ประเภทที่ 1 เงินเดือน
เงินได้ประเภทที่ 2 ฟรีแลนซ์ ค่านายหน้า
หักแบบเหมาได้ 50% ไม่เกิน 100,000 บาท
และหากมีเงินได้ประเภทที่ 1 และ 2 ให้นำมาคิดรวมกัน
หักได้ 50% สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
เงินได้ประเภทที่ 3 ค่าความนิยม ค่าลิขสิทธิ์
หักได้ตามจริง หรือแบบเหมา 50% ไม่เกิน 100,000 บาท
เงินได้ประเภทที่ 4 ดอกเบี้ย เงินปันผล
หักค่าใช้จ่ายไม่ได้
เงินได้ประเภทที่ 5 ค่าเช่า
หักได้ตามจริง หรือแบบเหมา 10-30% แล้วแต่ประเภท
เงินได้ประเภทที่ 6 วิชาชีพอิสระ
หักได้ตามจริง หรือแบบเหมา 60% และ 30% แล้วแต่วิชาชีพ
เงินได้ประเภทที่ 7 ผู้รับเหมาที่เตรียมสัมภาระเอง
หักได้ตามจริง หรือแบบเหมา 60%
เงินได้ประเภทที่ 8 ธุรกิจอื่น ๆ
หักได้ตามจริง หรือแบบเหมา 40% และ 60% ตามประเภท
จะเห็นว่า เงินได้ประเภทที่ 1-4 จะเป็นเงินได้ที่หักค่าใช้จ่ายได้น้อยมาก ดังนั้นเราจึงควรย้ายเงินได้ไปเป็นประเภทอื่นที่หักค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น เพื่อที่จะเสียภาษีให้น้อยลง
ทีนี้ลองมาดูตัวอย่างที่สามารถนำไปปรับใช้ได้
- การแปลงเงินได้จากการจ้างแรงงาน ประเภทที่ 1 ไปเป็นเงินได้จากวิชาชีพอิสระ ประเภทที่ 6
เช่น คุณหมอมีเงินเดือน, เงินจากการขึ้นเวร และค่า OT ที่คุณหมอซึ่งได้จากการทำงานประจำในโรงพยาบาล จะคิดเป็นเงินได้ประเภทที่ 1
ถ้าหากสามารถแปลงเงินได้จากเงินเดือน มาเป็นเงินได้ประเภทที่ 6 ก็คือ วิชาชีพแพทย์ ทนายความ วิศวกรรม สถาปนิก นักบัญชี และประณีตศิลปกรรม
ซึ่งสำหรับคุณหมอในที่นี้ ก็คือเงินที่ได้จากคลินิก หรือสถานพยาบาลที่ไม่มีเตียง ก็จะสามารถหักค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น และเสียภาษีน้อยลง
- การแปลงเงินได้จากการรับจ้างทำงาน ประเภทที่ 2 ไปเป็นเงินได้จากธุรกิจอื่น ประเภทที่ 8
นั่นก็คือ ฟรีแลนซ์ที่เริ่มได้รับลูกค้ารายใหญ่อยู่เรื่อย ๆ ก็อาจจะเปลี่ยนมาเป็นการประกอบกิจการ ที่มีการจดทะเบียน VAT และมีสำนักงาน และการจ้างพนักงาน
เพื่อเปลี่ยนเงินได้จากประเภทที่ 2 มาเป็นเงินได้ประเภทที่ 8 ซึ่งจะอยู่ในรูปแบบการประกอบธุรกิจ มีลูกจ้าง มีค่าใช้จ่ายเยอะ และมีสำนักงาน
การแปลงประเภทเงินได้ช่วยให้หักค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น ส่งผลให้เสียภาษีน้อยลง ทั้งนี้ต้องทำอย่างถูกต้องตามกฎหมายและสอดคล้องกับลักษณะการทำงานจริงด้วย
เทคนิคที่ 3 การเลือกรวม หรือไม่รวมคำนวณภาษีปลายปี
Final Tax หรือภาษีสุดท้าย ซึ่งเป็นเงินได้ที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แล้ว ทำให้สามารถเลือกที่จะนำเงินได้เหล่านี้มารวม หรือไม่รวมคำนวณภาษีปลายปีก็ได้
โดยเงินได้ที่เป็น Final Tax มีอยู่ด้วยกัน 5 ประเภท ได้แก่
- ดอกเบี้ยต่าง ๆ อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15%
- ผลต่างราคาตราสารหนี้ อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15%
- กำไรจากการขายตราสารหนี้ อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15%
- เงินปันผล อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย 10%
- เงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์
อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายตามอัตราก้าวหน้า
วิธีการเลือกทำได้โดยคำนวณเปรียบเทียบระหว่างการนำเงินได้มารวมคำนวณยื่นภาษีปลายปี กับการไม่นำมารวม แล้วเลือกวิธีที่ทำให้เสียภาษีน้อยกว่า
ยกตัวอย่างเช่น เงินปันผลจากหุ้นที่เราได้รับ จริง ๆ แล้วเงินก้อนนี้ถูกหักภาษีมา 2 รอบ จากภาษีเงินได้นิติบุคคลรอบหนึ่ง และภาษีหัก ณ ที่จ่ายอีกรอบหนึ่ง ทำให้ภาษีที่ถูกหักไปจากเงินปันผลทั้งหมด รวมแล้วประมาณ 28%
เพราะฉะนั้นถ้าอัตราภาษีเงินได้ของเราน้อยกว่า 28% เราก็ควรจะเอาเงินปันผล มารวมคำนวณภาษีปลายปี เพื่อเครดิตภาษีเงินปันผลคืน
แต่ถ้าอัตราภาษีเงินได้ของเรามากกว่า 28% เราก็ไม่ควรจะเอาเงินปันผล มารวมคำนวณภาษีปลายปี ปล่อยให้หัก ณ ที่จ่ายแล้วจบไปเลย ไม่งั้นจะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น
เทคนิคที่ 4 การกำหนดเวลารับเงิน
การกำหนดเวลารับเงินเป็นอีกหนึ่งวิธีในการวางแผนภาษี โดยอาศัยหลักเกณฑ์เงินสด
หลักการสำคัญของเกณฑ์เงินสดก็คือ รับเงินปีภาษีใด เป็นรายได้ของปีภาษีนั้น
ทีนี้ลองมาดูตัวอย่างที่สามารถนำไปปรับใช้ได้
สมมติว่าเราเป็นฟรีแลนซ์ที่กำลังจะได้รับเงินค่าจ้างก้อนใหญ่มาก ๆ ในปีนี้ แต่ว่าทั้งปีเราก็มีรายได้สูงมากแล้ว ซึ่งแปลว่าเราจะต้องเสียภาษีมากขึ้นตามด้วย
เราอาจจะพิจารณาเลื่อนการรับเงินบางส่วนไปปีถัดไป ด้วยการให้คนที่จ้างเรา จ่ายเงินเป็น 2 งวด โดยงวดหนึ่งจ่ายปีนี้ อีกงวดจ่ายปีหน้า เป็นต้น ก็จะทำให้ปีนี้เรามีเงินได้ที่จะนำไปคำนวณการเสียภาษีน้อยลง
และในทางกลับกัน ถ้าหากเราคาดว่าปีหน้าจะมีรายได้สูงกว่าปีนี้ ก็อาจจะพิจารณาเร่งรับเงินในปีปัจจุบัน รวมถึงพิจารณาจังหวะเวลาในการรับเงินให้สอดคล้องกับการใช้สิทธิลดหย่อนต่าง ๆ
เทคนิคที่ 5 การลดเงินได้สุทธิ
การลดเงินได้สุทธิก็คือ การซื้อประกันสุขภาพ ประกันชีวิต และประกันบำนาญ รวมไปถึงกองทุนเพื่อลดหย่อนภาษี เช่น กองทุน Thai ESG, กองทุนรวม SSF, กองทุนรวม RMF แบบที่หลาย ๆ คนกำลังทำกันอยู่นั่นเอง
ซึ่งการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเหล่านี้ นอกจากจะช่วยลดเงินได้สุทธิแล้ว ยังช่วยสร้างวินัยการออม การลงทุนระยะยาว รวมทั้งยังเป็นการวางแผนการเงินได้ด้วย
จากเทคนิคทั้ง 5 ข้อ จะเห็นได้ว่าการวางแผนภาษีไม่ใช่เรื่องยาก และสามารถทำได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพียงแค่เราต้องทำความเข้าใจหลักการพื้นฐาน
การนำเทคนิคเหล่านี้มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับตัวเอง ไม่เพียงแค่ลดภาระภาษี แต่ยังเป็นการวางแผนจัดการการเงินได้ด้วย
เพราะยิ่งเราวางแผนภาษีได้ดีเท่าไร ก็ยิ่งช่วยให้เรามีเงินเหลือไว้เพื่อเป้าหมายอื่น ๆ ในชีวิตได้มากขึ้นเท่านั้น นั่นเอง..
แชร์ข้อมูลนี้ให้เพื่อนของคุณสิ
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัวและคุกกี้